วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องย่อ คนโขน











ตัวอย่าง คนโขน




คนโขน (สหมงคลฟิล์ม)


กำหนดฉาย : 25 สิงหาคม 2554
แนว : เมโลดราม่า
นำแสดง : สรพงษ์ ชาตรี, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, พิมลรัตน์ พิศลยบุตร, อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ, ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์, นันทรัตน์ ชาวราษฎร์, กองทุน พงษ์พัฒนะ
บทภาพยนตร์ : ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
กำกับ : ศรัณยู วงษ์กระจ่าง


          "เบื้องหน้าคือความวิจิตรตระการตา เบื้องหลังคือตัณหาและมายาแห่งนาฎกรรม ... "

เรื่องย่อ คนโขน


          เรื่องของคน เรื่องของโขนนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดยเล่าเรื่องราวของ ชาด (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) เด็กกำพร้าที่ถูกครูโขนฝีมือดีอย่าง ครูหยด (สรพงษ์ ชาตรี) เลี้ยงดูและฝึกหัดโขนให้ตั้งแต่เล็ก ๆ จนกระทั่งเติบใหญ่มีฝีไม้ลายมือเก่งกาจกลายเป็นศิษย์เอกในคณะโขนของครูหยด อีกทั้งชาดยังได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจที่ดีเสมอมาจากเพื่อนรักอย่าง ตือ (กองทุน พงษ์พัฒนะ)และ แรม (นันทรัตน์ ชาวราษฎร์) ที่สนิทสนมรักใคร่ผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็ก


          ด้านครูหยดก็ได้มองเห็นแววที่จะเอาดีทางด้านนี้ของชาด และคิดจะเปิดตัวชาดในบทพระรามเป็นครั้งแรกในงานแสดงโขนประจำปีครั้งใหญ่ที่วัดอ่างทอง


          เส้นทางชีวิตของชาดดูเหมือนจะไร้ซึ่งอุปสรรคในการก้าวตามความฝัน เพื่อมุ่งสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักแสดงโขนตามความทะยานอยากในวัยหนุ่มของเขา 


          แต่เมื่อ ครูเสก (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) อดีตเพื่อนรักของครูหยด ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจด้วยปมแค้นฝังลึก ได้รับรู้เรื่องการแสดงของคณะครูหยด จึงหาวิธีกลั่นแกล้งไม่ให้ครูหยดได้แสดงโขนที่วัดนี้ ซึ่งก็เข้าทางหลานชายสายเลือดโขนของครูเสกอย่าง คม (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) คู่อริเก่าของชาดที่ต้องการแก้แค้นและเอาคืนชาดอย่างสาสมเช่นกัน

          บางครั้งเราก็ต้องพบกับฝันร้ายโดยไม่รู้ตัว...



          เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อปัญหาที่ถาโถมเข้ามาหาครูหยดและชาดนั้นไม่ใช่แค่มายาแห่งนาฏกรรมโขนอันเกิดมาจากความอาฆาตแค้นไม่สิ้นสุดของครูเสกและคมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชาดยังหลงเข้าไปในวังวนแห่งตัณหาราคะที่ก่อเกิดจาก รำไพ (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) เมียรุ่นลูกของครูหยดที่จ้องจะเข้าหาชาดทุกครั้งที่มีโอกาส รวมทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อนรักอย่างชาด, แรม และตือที่ถูกสั่นคลอนลงอย่างไม่คาดฝัน นั่นเป็นเหตุให้ชีวิตของชาดซวนเซและพลิกผันไปอย่างไม่ทันตั้งตัว


          ฉากสุดท้ายของชาดจะสามารถกลับลำและไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ ถึงเวลาที่ชาดจะต้องต่อสู้เอาชนะด้านมืดของตัวเอง และพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ หาใช่หัวโขนที่สวมใส่

คาแร็คเตอร์ตัวละคร






ครูหยด (รับบทโดย สรพงษ์ ชาตรี)



          ครูโขนฝีมือดีหาตัวจับยาก แต่มักจะเก็บตัวอยู่อย่างสมถะ ด้วยมีความหลังบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องโขนและความรักฝังลึกเป็นปมในใจติดตัว รอเวลาชำระล้างอดีตที่ตนไม่อยากเอ่ยถึงนั้นเรื่อยมา


          "ครูหยดจะเป็นครูโขนที่มีความสมถะ เรียบง่าย ไม่หวงวิชา จะถ่ายทอดวิชาโขนให้ลูกศิษย์เพื่อการดำรงอยู่ของศิลปะวัฒนธรรมไทย ตัวครูหยดจะถือว่าการถ่ายทอดศิลปะของตัวเอง แม้จะมีคนดูเพียงคนเดียวก็ต้องเล่น แล้วถ้ายิ่งคนที่ดูเพียงคนเดียวนั้นนำไปพูดเผยแพร่ต่อ เราก็ถือว่าเป็นคุณค่าของศิลปะนี้แล้ว มีประโยชน์แล้ว ครูหยดจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่อาชีพโขน เสียสละ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ใครจะคิดยังไงก็คิดไป แต่ตัวเองแค่อยากเผยแพร่วัฒนธรรม แล้วก็เล่นโขนด้วยหัวใจด้วยความสุข ต้องเต็มที่กับงานแสดง"










ครูเสก (รับบทโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา)


          เพื่อนรักในวัยหนุ่มของครูหยด ฝึกโขนอยู่กับพ่อครูเดียวกัน ครูเสกเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงจนมีเหตุให้ต้องผิดใจกันกับครูหยด ถึงขั้นตัดขาดจากความเป็นเพื่อน ครูเสกดูถูกดูแคลนครูหยดว่าเป็นพวกโขนในคลอง หมายถึงโขนชาวบ้าน โขนชั้นต่ำไม่มีระดับ แต่ด้วยการที่รู้ในฝีมือครูหยด ครูเสกจึงมักจะจ้องหาโอกาสทำลายชื่อเสียงของครูหยดให้ได้ถ้ามีโอกาส


          "เรื่องนี้มันเกี่ยวกับเรื่องของโขน ครูเสกเป็นเจ้าของคณะโขนซึ่งชิงดีชิงเด่นกับคณะโขนของคุณสรพงษ์ มันก็เหมือนกับวงดนตรีลูกทุ่งต่าง ๆ มันก็เปลี่ยนไปตามยุค เมื่อสมัยก่อนไม่มีวงดนตรีลูกทุ่งก็จะมีวงลิเก มีโขน มีเพลงฉ่อย คนพวกเนี้ยก็เป็นครูทั้งนั้น เมื่อมีอายุมากขึ้นแล้วเราก็มีประสบการณ์ก็มาตั้งคณะของตัวเอง ก็จะชิงดีชิงเด่นกันระหว่าง 2 คณะโขนที่คนดูชอบ ก็แล้วแต่ว่าใครจะมีไหวพริบอะไรที่ดีกว่า คณะของผมมันยิ่งใหญ่กว่าแล้วพยายามที่จะหักล้างหรือว่าจะข่มของคณะของคุณสรพงษ์อยู่ตลอด มันก็เป็นการชิงดีชิงเด่นเพื่อความอยู่รอด เพราะว่ามันเป็นอาชีพแสดงโขนแล้วก็ต้องเลี้ยงลูกน้องหลายชีวิตอย่างนี้ แต่เราก็จะไปชี้ว่าคนนั้นเลวหรือคนนั้นดีมันก็ไม่ได้เหมือนกันนะ










ชาด (รับบทโดย อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ)


          เด็กชายกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้กลางป่าช้าหลังวัดร้างแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี มีเพื่อนสนิทวัยเดียวกันสองคนคือ ตือ และ แรม เมื่ออายุได้ประมาณเจ็ดขวบ ครูหยดได้ขอตัวชาดมาเลี้ยงดูและจับฝึกหัดโขน เพราะเห็นว่าหน่วยก้านดี ชาดจึงได้รับการฝึกหัดโขนอย่างจริงจังครบทุกท่วงท่าโขนทั้งตัวพระ, ยักษ์ และลิง จนกลายเป็นศิษย์เอกของครูหยด ก่อนที่จะหลงเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งรักโลภโกรธหลงซึ่งเขาอาจจะต้องแลกด้วยชีวิต


          "หนังเรื่องนี้โดยเนื้อเรื่องมันก็สะท้อนการทำความฝันของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่พยายามทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง ซึ่งในเรื่องนี้ตัวละครก็มีความฝันที่จะเป็นนักแสดงโขนที่โด่งดังให้ได้ ภายในเรื่องนี้เนี่ยเรื่องโขนจะเป็นความสุดยอดของยุคสมัยนั้นแล้ว เรื่องนี้จะมีการแสดงทางด้านศิลปะโขน ทำให้ท่านผู้ชมได้เห็นมุมมองการแสดงที่เป็นมรดกของชาติที่ไม่ได้มีเพียงแค่เสน่ห์แปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสอดแทรกเรื่องราวที่เข้มข้น เป็นเรื่องราวของรักโลภโกรธหลงของมนุษย์เรานี่แหละ มีครบทุกอารมณ์ ครบทุกรสชาติความเป็นหนังไทย ประกอบกับการแสดงของนักแสดงชั้นครูแต่ละคน และความตั้งใจของพี่ตั้วผู้กำกับที่ต้องการถ่ายทอดแง่คิดดี ๆ ให้กับผู้ชม ซึ่งรับรองได้ว่าเป็นหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดนะครับ"








รำไพ (รับบทโดย พิมลรัตน์ พิศลยบุตร)


          เด็กสาวบ้านนอกที่มีพรสวรรค์เรื่องการรำ เธอหวังจะมีชื่อเสียงโด่งดังในแวดวงนาฏศิลป์ จึงตัดสินใจหอบผ้าหอบผ่อนตามมาอยู่บ้านครูหยด แต่ก็ถูกเลี้ยงดูเป็นเพียงเมียเก็บเท่านั้น กระทั่งก้าวเข้าสู่การเป็นสาวใหญ่วัยใกล้สามสิบปี รำไพจึงเป็นเสมือนครูสอนรำเก็บกดที่ชอบดุด่าลูกศิษย์ลูกหาในคณะ และไม่มีใครกล้าเถียงหรือขัดใจรำไพ เพราะต่างรู้กันเป็นนัยว่ารำไพคือเมียครูหยด รำไพนั้นเห็น ชาด ศิษย์เอกของครูหยดมาตั้งแต่เล็ก ๆ กระทั่งเติบโตเป็นหนุ่มแน่น ด้วยความที่ครูหยดเฉื่อยชาลงและไม่สามารถสนองตอบกามารมณ์ของรำไพได้เต็มที่ จึงทำให้รำไพหวังจะได้ชาดเป็นชู้รักเข้าสักวัน


          "จริง ๆ จะว่าไป ตัวละครนี้ก็คือมนุษย์น่ะค่ะ มนุษย์มีความรักโลภโกรธหลง ไม่มีใครจะดีทุกด้านหรอก ทุกคนมีด้านดีแล้วก็ต้องมีด้านมืด เพราะฉะนั้นตัวรำไพนี่ก็เป็นตัวละครที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ผู้มีความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งมันก็คือธีมหลักของเรื่อง มันคือดราม่า มันคือชีวิตคนเรานี่แหละ"










คม (รับบทโดย ขจรพงศ์  พรพิสุทธิ์)
          นักเรียนนาฏศิลป์ หลานชายเพียงคนเดียวของครูเสก หน่วยก้านดี มีสายเลือดโขนอยู่เต็มตัว แต่เขาเป็นเอาแต่ใจตัวและเลือดร้อนตามประสาวัยรุ่น คมมีความแค้นฝังลึกกับชาดมาตั้งแต่วัยเด็ก และตั้งปณิธานมั่นไว้ว่า สักวันจะต้องแก้แค้นเอาคืนกับชาดอย่างสามสมให้ได้


          "สิ่งที่ต้องฝึกฝนในตัวเองมากขึ้นก็คือการมีสมาธิเพราะผมเป็นคนสมาธิสั้น ก็เลยต้องฝึกสมาธิแบบว่าจดจ่อกับสิ่งที่เราได้ทำอยู่ และก็ได้มีการฝึกแอ็คติ้ง ฝึกบทพูด เพราะผมเป็นคนพูดเร็วแล้วบางทีก็พูดไม่ชัด ก็ต้องฝึกพูดคำควบกล้ำให้พูด ร.เรืออะไรแบบนี้ แล้วก็ให้เข้าใจในบทที่เราจะได้รับ แล้วก็เคลียร์ตัวเองว่าบทนี้เป็นอย่างไร คาแร็กเตอร์เราเป็นอย่างไร และเราจะสื่อออกมาจากข้างในโดยคำพูด โดยสายตาอย่างไรที่ทำให้คนดูรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร และเรากำลังทำอะไร เหล่านี้คือสิ่งที่ผมยังมีไม่มากก็เลยต้องเรียนรู้ตรงนี้มากขึ้นครับ"










แรม (รับบทโดย นันทรัตน์ ชาวราษฎร์)


          เด็กหญิงกำพร้าที่อาศัยอยู่กับคณะลิเกแม่ซ่อนกลิ่น แรมนั้นรักการรำลิเก เธอใฝ่ฝันอยากเป็นนางเอกลิเกเมื่อเติบโตขึ้น ด้วยเหตุที่คณะลิเกแม่ซ่อนกลิ่นมักจะมาเปิดวิกที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำ แรมจึงได้พบกับชาดและตือซึ่งเป็นเด็กวัยเดียวกัน ทั้งสามได้มีโอกาสเที่ยวเล่นกันตามประสาเด็กอยู่บ่อย ๆ ทำให้สนิทสนมกันยิ่งนัก โดยไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาจะมีเหตุการณ์ทำให้ต้องหมางเมินกันไป


          "ก่อนการถ่ายทำเรื่องนี้ ตรีและก็เพื่อน ๆ ก็ต้องมีการเรียนและซ้อมการแสดงกับพี่ตั้วผู้กำกับด้วย พี่ตั้วจะสอนเองเลย และก็ให้ซ้อมบทบาทจนจำขึ้นใจเลยค่ะ ซึ่งก็จะช่วยเวลาถ่ายทำจริงหน้ากองถ่ายเยอะมาก ทำให้การแสดงไหลลื่นเป็นธรรมชาติ ช่วยได้มากจริง ๆ ค่ะ แล้วก็ต้องมีการฝึกรำและร้องลิเกด้วยค่ะ เพราะที่ตรีเรียนอยู่มันเป็นนาฏศิลป์ไทยทั่วไป ซึ่งไม่เหมือนลิเก ก็ต้องไปปรับกับครูที่สอนลิเกอีกทีค่ะ แต่โชคดีที่ตรีมีพื้นฐานนาฏศิลป์อยู่แล้ว เรื่องรำเลยไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ แต่เรื่องร้องลิเกนี่สิคะยากมาก ๆ แต่ก็ฝึกและแสดงจนผ่านไปด้วยดีค่ะ"








ตือ (รับบทโดย กองทุน  พงษ์พัฒนะ)


          เด็กวัดกำพร้า เพื่อนสนิทของชาดและแรม  เป็นคนจิตใจดี ตรงไปตรงมา ทำอะไรอย่างที่ใจคิด ตือรักการวาดรูป และทำได้เป็นอย่างดี เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นจิตรกรเอกเมื่อเติบโตขึ้น ตือหลงรักแรมตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่คิดว่าจะบอกเธอ เพราะเขาเชื่อว่าความรักเป็นความรู้สึกมิอาจหาคำพูดใดมาถ่ายทอดแทนได้ และเชื่อว่าแรมย่อมรู้สึกถึงความรักของเขาที่มีต่อเธอได้โดยไม่ต้องพร่ำบอก


          "สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่งที่เราเอาวัฒนธรรมของเราออกมาทำในรูปแบบของภาพยนตร์ ซึ่งตั้งแต่สมัยเด็ก ผมก็เคยเล่นโขนมา เหมือนกับหลงลืมไปนาน อาจจะไม่มีโอกาสหรืออาจจะเป็นเรื่องสื่อ สภาพแวดล้อมของเราในตอนนี้ที่ทำให้เราไม่ค่อยได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยของเราทางด้านนี้นะครับ บางทีเด็กสมัยใหม่อาจจะมองว่าโขนเป็นเรื่องยากหรือเปล่า น่าเบื่อหรือเปล่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าก็ตามได้มาซึมซับเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศเราที่เป็นสิ่งสวยงามมากครับ รับรองมาดูเรื่องนี้ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ"










ซ่อนกลิ่น (รับบทโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล)
          อดีตนางรำศิษย์รักของครูหยด ที่ออกไปตั้งคณะลิเกเพราะอกหักผิดหวังจากครูหยด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต่างฝ่ายต่างอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ซ่อนกลิ่นก็มักจะแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือครูหยดบ้างเป็นครั้งคราว ด้วยสำนึกในบุญคุณครั้งเก่า


          "เรื่องนี้ก็รับบทเป็น ซ่อนกลิ่น อดีตนางรำที่เคยอยู่ในคณะของครูหยด และเป็นแม่ของแรมที่น้องตรีแสดง ก็จะเป็นเจ้าของคณะลิเกที่เคยมีความหลังกับครูหยด ซึ่งจะว่าไปทุกตัวละครในเรื่องก็จะมีทั้งด้านดีและด้านมืดของแต่ละคน ก็เหมือนกับชีวิตของมนุษย์เรานี่เองค่ะ คุณตั้วผู้กำกับก็ต้องการทำหนังสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีกิเลสตัณหาไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงไหนก็มีแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงการสะท้อนวัฒนธรรมของไทยอย่างโขนก็ทำถ่ายทอดออกมาให้ดูสนุกและน่าติดตามเช่นกันค่ะ"



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น