วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

วิจารณ์หนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4

วิจารณ์หนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4



วิจารณ์หนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4


ไม่ต้องรอกันนานนะครับสำหรับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคที่ 4 ศึกนันทบุเรง สำหรับเรื่องราวต่างๆ ที่ผมเคยพูดไว้ในตอนที่แนะนำ ภาคที่ 3 ก็คงไม่นำมาพูดตรงนี้อีก แต่มีอีกเรื่องที่ยังไม่ได้พูดในคราวที่แล้ว คือเรื่องของ กำหนดการในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยแรกเริ่มเดิมที ผู้สร้างประกาศไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมี "3 ภาค" เท่านั้น แต่พอทำภาค 1 ภาค 2 จบ ปรากฎว่าความยาวของเนื้อหายังไม่ลงตัว ในภาค 3 ก็เลยขอประกาศแยกเป็น 2 ตอน คือภาค 3.1 และ3.2 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นภาค 3 และ 4 คือ คือภาค "ยุทธนาวี" และภาค " ยุทธหัตถี"

เมื่อครั้งภาค 3 ตอน ยุทธนาวี ออกฉาย ก็ได้รับคำวิจารณ์ในด้านลบ เสียมากกว่า ถึงเนื้อเรื่องที่ยืดยาด ไปขยายในส่วนเล็กๆ บางส่วนไม่จำเป็นต้องนำมาเสนอก็ได้ บางช่วงบางตอนก็มีนักแสดงที่ไม่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล ภาค 3 นี้ก็เลยฉายไปอย่างเงียบๆ ไม่โด่งดังเหมือนภาค 1 และ ภาค2

จากนั้นผู้ชมที่คอยเฝ้าติดตามหรือเรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้เรื่องตำนาน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ต้องมาตกใจอีกครั้ง เมื่อทางผู้สร้างประกาศออกมาว่าภาคที่ 4 ตอน ยุทธหัตถึ ที่จะเป็นภาคจบ นั้น ยังคงมีเนื้อเรื่องอีกมากมายที่ไม่สามารถตัดออกได้ จึงประกาศเพิ่มตอนขึ้นมาอีก เป็นตอนที่ 4 และตอนที่ 5 โดยเลื่อนตอนยุทธหัตถีไปอยู่ตอนที่ 5 ส่วนตอนที่ 4 ที่มาแทนนั้นก็คือ ตอน ศึกนันทบุเรง นั้นเอง เรียกว่ายืดไปอีกตอน ไม่จบสักที

ถ้าจะพูดถึงตอนศึกนันทบุเรง ตามพงศาวดารแล้ว ถือว่าเป็นตอนที่สำคัญอีกตอนหนึ่ง ในตอนที่พม่ายกทัพมาทำศึกกับอโยธยา 2 ทางพร้อมกัน โดยทัพของพระยาพะสิม ยกพลเข้ามาทางด้านพระเจดีย์สามองค์ และล่วงเลยเข้ามาตั้งค่ายถึงดินแดนเมืองสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่ นรธาเมงสอ ได้นำทัพมาจากทางเหนือ บุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสะเกศ แขวงเมืองอ่างทอง แถมภายในอโยธยาเองเจ้ากรุงละแวก ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนที่มีนามว่า พระยาจีนจันตุ มาสอดแนมความเคลื่อนไหวภายในอโยธยา จนตอนหลังถูกจับพิรุธได้ พระยาจีนจันตุจึงต้องรีบตีเรือสำเภาหนีกลับกรุงละแวกทันที และพระนเรศวรนำทัพเรือออกไปตามจนเกิด ศึกยุทธนาวี ขึ้น รวมทั้งพระยาพะสิมและ พระเจ้านรธาเมงสอ มีอันต้องพ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้ให้กับพระนเรศอีกด้วย




เมื่อความนี้ทราบไปถึงพระเจ้านันทบุเรง จึงทรงระดมไพร่พลแต่งเป็นกองทัพกษัตริย์ ตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อการบดขยี้กรุงอโยธยาให้ราบเป็นหน้ากลอง กองทัพหงสาวดีในครั้งนี้จึงมีความยิ่งใหญ่และสมบูรณ์มาก ในกองทัพครั้งนี้นอกจากจะมีเจ้าหัวเมืองต่างๆ ร่วมรบแล้ว ยังมีพระมหาอุปราชา มังจาปะโร หรือแม้แต่ ลักไวทำมู ทหารกล้าแห่งหงสาวดีเข้ารวมรบด้วย และทั้งหมดในเหตุการณ์ช่วงนี้จึงถูกเรียกว่า "ศึกนันทบุเรง"

แต่สำหรับในเวอร์ชั่นที่เป็นภาพยนตร์ในตอนนี้ มีเรื่องย่อๆว่า ผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรง (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวร (วันชนะ สวัสดี) และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลอง เพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า

กองทัพกษัตริย์ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม กว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง ๓,๒๐๐ ทัพม้า ๑๒,๐๐๐ และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง ๒๕๒,๐๐๐ โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้ง พระมหาอุปราชา (นภัสกร มิตรเอม) , มังจาปะโร (ชลัฏ ณ สงขลา) และ ลักไวทำมู (สมชาติ ประชาไทย) ทหารกล้า




กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกันแปรพักตร์เข้าสมานสมัครพระเจ้านันทบุเรงรบสมเด็จ พระนเรศวร เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อพระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัยสมเด็จ พระนเรศวรแต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมี อันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้

ภัยรอบด้านบีบรัดให้สมเด็จพระนเรศวรทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น (อินทิรา เจริญปุระ) และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึกกันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจาก เนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่างเลอขิ่นกับพระราชมนู (นพชัย ชัยนาม) ขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขัน เมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของพระเจ้านันทบุเรง




จริงหรือเท็จก็ไม่ทราบนะครับ ก่อนที่ผมจะได้ดูภาค 4 ตอน ศึกนันทบุเรง ผมได้ยินข่าวลือจากวงในว่า น่าจะมีภาค 5 ภาค 6 อีก นั้นก็หมายความว่า เรื่องนี้ถูกยืดออกมาอีกตอน ซึ่งผมก็ไม่สามารถจะฟันธงได้ว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ในตอนที่ผมนั่งดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในรอบสื่อ สองชั่วโมงกว่าๆ พอถึงตอนจบ ก็รู้ได้ทันทีว่า ข่าวลือที่บอกว่าน่าจะมีภาค 5 กับภาค 6 น่าจะเป็นความจริง เพราะในศึกครั้งนี้เหมือนเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเองของตอนท้าย 10 นาที

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ก็เรื่องของการสู้รบที่มีการ "ตั้งค่ายกล" ที่เคยเห็นในภาพยนตร์จีนบ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่อง "3 ก๊ก" ผมไม่รู้ว่าในการสู้รบกันจริงๆ ตามตำนานของไทยและพม่านั้น มีการตั้งค่ายกลเหมือนอย่างในภาค 4 นี้ด้วยหรือเปล่า หรือเป็นเพียงสีสันที่เพิ่มเข้ามา

ในบทสรุปรวมของภาคนี้ น่าจะเป็นภาค ดราม่ามากกว่า ฉากสู้รบมีน้อยกว่าภาคที่แล้ว ส่วนที่มีก็ดูแล้วเหมือนส่วนประกอบให้ในส่วนของดราม่าแข็งแรงขึ้น บางฉากบางตอนไม่น่ามีเลย อย่างเช่นฉากในมุ้งตอนที่ เลอขิ่น เลิฟซีนกับ พระราชมนู ไม่ต้องมีก็ได้ แค่รู้ว่าแต่งงานกันก็พอ ส่วนที่เหลือเขาจะทำอะไรกันในเรื่อง ส่วนตัวไม่ต้องมาบอกก็ได้

อีกเรื่องคือตัวละคร อย่าง "ไอ้ขาม" ในภาคที่แล้วก็มีคงสงสัยว่า ไอ้ขาม (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) มาทำไม ไม่เห็นมีบทอะไรเลย มาในภาคนี้ไอ้ขามก็แค่มีบทเป็นตัวเปรียบเทียบเท่านั้นว่า "เห็นไหมว่า ไอ้ขาม แม้ว่าเป็นคนบ้าใบ้ ก็ยังอยากเป็นทหาร รักษาบ้านเมืองเลย" ได้แค่เป็นตัวเปรียบเทียบซะงั้น แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเดาเอาไว้นะครับว่า ไอ้ขามนี้แหละ จะเป็นตัวแทนของ พระราชมนู ในภาคหน้าลองมาดูกันว่า ผมจะเดาถูกเปล่า ในเรื่องนี้ยังมีถึงเรื่อง "อภัยโทษ" ไม่รู้ว่าอิงการเมืองในช่วงนี้หรือเปล่า ที่แว่วๆ ว่า จะขออภัยโทษให้ใครบางคน อ๋อ..ภาคนี้มีเพลงประกอบภาพยนตร์ด้วยครับ เพราะดี




แต่ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นอย่างไง เราในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ควรไปดูความเป็นไปในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราที่ทรงมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถอย่าง องค์สมเด็ดจพระนเรศวร หรืออย่างน้อยๆ ก็ได้อุดหนุนหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ผู้สร้างทุมเททั้งแรงกายแรงใจสร้างขึ้นมาให้คนไทยได้ดู และอยากให้คนไทยรักประเทศชาติให้มากขึ้น โดยมีตอนหนึ่งที่พระนเศรพูดถึงคือ "การที่สยามประเทศเราต้องตกเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีในครั้งนั้น ก็เพราะเจ้านายฝ่ายอโยธยาและฝ่ายเหนือ มิได้ปรองดองกัน เราแตกแยกกันเอง จึงต้องตกเป็นเมืองขึ้น ก็การแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งค่ายกันเยี่ยงนี้มิใช่หรือ ที่บุเรงนองจึงหาช่องเข้าตีเราได้ เมื่อผู้เป็นใหญ่แตกคอกันแล้วแผ่นดินจึงย่อยยับ"

ครับไปดูเถอะครับสำหรับในภาคนี้ฉากเด่นๆ ก็เห็นจะ เป็น ฉาก ศึกบางเกี่ยวข้าว, ตอนพระแสงดาบคาบค่าย และตอนสุดท้ายศึกลักไวทำมู ศึกสุดท้ายในฉากนี้ดูเพียงการตั้งค่ายกลก็สนุกแล้ว


บทวิจารณ์โดย
ทชากร
tck05@sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น