วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

คุยกับผู้กำกับ "ขอบคุณที่รักกัน"


คุยกับผู้กำกับ "ขอบคุณที่รักกัน"



“ขอบคุณที่รักกัน”

หนังรัก ในแนวทางที่ถูกมองข้าม

โดยบริษัทหน้าใหม่ “พัทยาฟิล์ม”






บริษัทค่ายภาพยนตร์น้องใหม่ พัทยาฟิล์ม จับมือกับทาง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ในการส่งภาพยนตร์เรื่อง ''ขอบคุณที่รักกัน'' ภาพยนตร์แนวโรแมนติก-ดรามาที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 12 พฤษภาคมนี้ “ขอบคุณที่รักกัน”กำกับโดย 3 ผู้กำกับที่อยู่ในแวดวงภาพยนตร์มายาวนาน นำโดย ปุ๋ย- พีระศักดิ์ ศักดิ์ศรี, ตั้ม-พุฒิพงศ์ สายศรีแก้ว และ สอง-สยมภู มุกดีพร้อม มีนักแสดงนำคือ หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส,กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี,ปั๊บ วงโปเตโต้-พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข ,สายป่าน- อภิญญา สกุลเจริญสุข,ญี่ปุ่น-ณภัทร บรรจงจิตไพศาล, เล็ก-สมชาย ศักดิกุล,,ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว,อุดม ชวนชื่น


สำหรับบริษัท พัทยาฟิล์ม ก่อตั้งโดยทายาทรุ่นที3 ของตระกูล ชวลิตธำรง หนึ่งในผู้บุกเบิกเมืองพัทยามากว่า 70 ปี คุณ เพชร-อิทธิ ชวลิตธำรง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพชร พรอพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโครงการ The Cove Condominium พัทยา ริมหาดวงศ์อมาตย์ ที่กำลังทดลองธุรกิจใหม่โดยการก้าวสู่วงการภาพยนตร์


คุณ เพชร-อิทธิ ชวลิตธำรง เปิดใจว่า
“ตัวผมเป็นคนชอบดูหนัง พอดูไปเยอะๆแล้วหนังไทยของเราเนี่ย จะมีข้อจำกัดในบางอย่าง ถ้าหนังไม่ได้ผลกำไรแล้วจะไม่มีใครทำ ซึ่งหากมีคนที่กล้าจะทำหนังที่กึ่งๆการตลาดหรือผลตอบแทนไม่เยอะ ทำหนังดีๆเพื่อนำเสนอสิ่งดีๆให้สังคม ผม เลยก่อตั้ง บริษัทพัทยาฟิล์มขึ้นมา ทำหนังสักปีละ 3-4 เรื่อง คือตอนนี้ตลาดหลักๆที่เขาว่ากันของภาพยนตร์คือกลุ่มอายุ 15-25 ซึ่งผมว่าไม่จริง เพราะผมก็อยากดูหนัง แล้วทำไมต้องดูหนังแมสๆในตอนนี้ หนังที่ให้แง่คิดดีๆ หนังที่สร้างกำลังใจให้เรา มันหายไปไหน 10 กว่าปีแล้ว ก็อยากลองทำขึ้นมาดู ถึงไม่สำเร็จก็จะทำอีกครับ ถึงจะขาดทุนแต่เป็นกำไรของสังคมครับ”
การทำแนวนี้ในยุคนี้ในแง่ธุรกิจไม่น่าจะคุ้มทุนเมื่อเป็นฝ่ายบุกเบิก
“การตั้งบริษัท พัทยาฟิล์ม ผมไม่ได้มองในแง่ธุรกิจ เพราะถ้ามองอย่างนั้นคงไม่ทำ หนังแมสมีคนทำดีๆอยู่แล้ว ผมเลือกทำสิ่งที่มันเคยเป็น สิ่งดีๆสมัยผมวัยรุ่น ชอบดู ผมก็ทำไป เรื่องนี้มันอยู่รอบตัว กลุ่ม 15-25 ลองเข้าไปดูมันให้แง่คิดอะไรบ้างไม่มากก็น้อย ผมพร้อมรับทุกคำติชม บริษัทเราเปิดรับทีมงานทุกทีมเข้ามาทำงานร่วมกัน เราเปิดกว้างครับ ในอนาคตก็จะสร้างโรงภาพยนตร์ที่พัทยาด้วย เพราะกรุงเทพฯคือเมืองหลวงแต่เมืองใหญ่ๆก็มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นได้เช่นกัน ตอนนี้ก็เรียนรู้จากหนังเรื่องนี้ให้ครบวงจรว่าเขาทำกันยังไง ผมมองการสร้างภาพยนตร์เป็นความสวยงามที่เหมือนเราเห็นดอกไม้ดอกหนึ่ง เรามองสัก 5 นาที พอหลับตาเราก็ยังเห็นดอกไม้นั้นอยู่ พัทยาฟิล์มเป็นทางเลือกใหม่ ความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ เปิดมุมมองที่มีอยู่แล้ว ในรูปแบบใหม่ๆไม่ได้บอกว่าสิ่งที่มีอยู่ซ้ำซากจำเจ แค่อยากหาสิ่งใหม่ๆให้คนรับกัน”
สำหรับหนังเรื่องแรกของ “พัทยาฟิล์ม” ก็คือ “ขอบคุณที่รักกัน” ได้ 3 ผู้กำกับ คือ ปุ๋ย-พีระศักดิ์ ศักดิ์ศรี มีเครดิตการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับและร่วมเขียนบทเรื่อง “โหมโรง” ผู้ช่วยผู้กำกับเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช,ตั้ม พุฒิพงศ์ สายศรีแก้ว ผู้ช่วยผู้กำกับ เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หนึ่งในโรนินทีม กำกับ เรื่อง ลองของ และ สอง-สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพที่เคยกำกับภาพให้เจ้ย-อภิชาตพงศ์ กับหนังเรื่องสุดเสน่หา นอกจากนี้ก็มีอย่างเรื่อง Bitter / Sweet , Soi Cowboy,หนูหิ่น เดอะมูฟวี่,สตรีเหล็ก 2, สยิว


การรวมตัวของผู้กำกับ 3 คนที่แนวคิดตรงกันในพยายามให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความหลากหลาย
“เรารักในภาพยนตร์ไทย อยากให้ภาพยนตร์กลับมาแบบในยุคที่ เป็นในแบบนี้ที่มีแต่หนังตลก หนังผีอะไรอย่างเนี่ย อยากให้มีหนังอีกประเภทที่เคยมีอยู่แล้วมันหายไป กลุ่มคนดูที่เคยมีอยู่แล้วมันหายไป อยากให้กลุ่มนี้กลับมา เป็นหนังอีกทางเลือกหนึ่ง มีความรู้สึกเหมือนกันว่าอยากทำหนังแบบนี้”
การสร้างหนังที่ไม่ได้อยู่ในกระแส ทำให้เกิดได้ยาก
“เวลาเรามีบทหรือไอเดียดีๆแต่เราไม่สามารถทำได้ บางเรื่องอาจจะไม่ขาย เราไม่สามารถยืดหยุ่นกับตรงนั้นได้ พอเรามาเจอนายทุนที่สนใจมุมมองเรื่องของสังคม การเมือง หรือะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่พูดยากๆในวงการภาพยนตร์ พอเจอคนที่สามารถ เมเนจน์มันได้เนี่ย แต่เราก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ประนีประนอมกับตลาด เพียงแต่มันไม่ใช่วัยรุ่นจ๋า พอมาเจอกับจุดๆนี้เข้า เราก็เออลองมาฟอร์มทีมทำกันไหม ในฐานะคนทำหนัง เราก็อยากเรสพอนด์กับสังคม ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมนะครับ เราขอเป็นแนวร่วมในมุมมองของเราเลือกนำเสนออีกประเด็นหนึ่งให้กับคนดู บางเรื่องคนอื่นพูดไปเยอะแยะแล้ว เรารู้สึกว่าหนังไทยมันมีหนังที่น่าจะมีโอกาส คนไทยมีเก่งๆเยอะ น่าจะมีหนังทางเลือกอื่นให้คนไทยได้ดู นอกจากหนังกระแสหลัก ต้องมีความหลากหลายเป็นช้อยท์ให้ผู้บริโภคได้เลือก”
แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเรื่อง “ขอบคุณที่รักกัน”
“เราเริ่มมาจากในช่วงที่เราคิด ทั้งบ้านเรา ทั้งโลกนี้ มีปัญหาหลายๆอย่าง ดูสับสน วุ่นวาย ปัญหาต่างๆมันเยอะ เรารู้สึกว่าความสุขมันไม่มี เราก็คิดกันว่าทำไม เราก็จับจุดว่า สิ่งที่ทำให้คนไม่มีความสุขอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องความรัก แต่เราไม่ได้มองความรักแบบวัยรุ่น ความรักมันมีหลายแบบ รักในครอบครัว พี่น้อง เพื่อน มันมีอยู่ทุกรูปแบบ เราก็จับประเด็นนี้ขึ้นมา เริ่มต้นจริงๆเราอยากนำเสนอ สิ่งที่อยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนอยู่แล้วมาทำ อย่างในเรื่องพระราชดำรัสของในหลวง ที่เราเข้าใจกันได้ง่ายๆ เรื่องความเสียสละ การใช้ชีวิต มาเป็นจุดเริ่มต้น แล้วแตกออกมาเป็นพล็อตของแต่ละครอบครัว แต่ละคู่ ให้เชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเดียวกัน

เป็นเรื่องของ 3 ครอบครัวที่มีแบ็คกราวด์แตกต่างกันไป ใช้ชีวิตแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือแต่ละครอบครัวเริ่มต้นที่ความสุขในครอบครัวมันหายไป รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือการพูดคุยกัน มันหายไป ทั้ง 3 เรื่องจะเจอแต่ปัญหาๆจนถึงจุดหนึ่งที่ต้องตัดสินใจ เปลี่ยนแปลง หรือเลือกทางออก แต่สุดท้ายทุกคนจะเจอทางออก ทางเดียวกันคือเรื่องความรัก สิ่งที่ทุกคนหลงลืมไป พอนึกถึงความรักที่คนอื่นมีให้เนี่ย ทำไมเราถึงลืมมันไป ทุกคนมัวแต่มองปัญหาที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าที่จะมองอะไรที่อยู่ใกล้ตัว จริงๆความสุขไม่ได้หายไปไหน มันอยู่ข้างๆตัวเราหรือเปล่า เราลืมมันไป เรามองไม่เห็นมันหรือเปล่า เราลืมที่จะให้กลับคืนเขาบ้างหรือเปล่า”




ต้องการวางให้หนังเรื่องนี้เป็นดราม่าล้วนๆ
“สัดส่วนของตัวหนัง ในด้านดราม่าก็จะมีมากกว่าส่วนอื่นประมาณสัก 60% แล้วจะมีมูดอื่นๆ เรื่องคอมาดี้ ความสนุกด้วย แต่สัดส่วนดราม่ามันจะนำ แต่การมีพี่สมเล็ก หรือพ่ออุดม ชวนชื่น ไม่ใช่ว่าเขาจะมาเล่นตลก เหมือนเรามองอีกมุมหนึ่ง อย่างพี่สมเล็ก เขามีอะไรที่คนนึกไม่ถึง น้อยคนที่จะรู้ว่าเขาเป็นนักดนตรี เราเลือกเขามาในบท อาจารย์สอนดนตรี เป็นอีกมุมมองหนึ่ง เราเอาเขามา ไม่ใช่ให้เล่นตลก เรามาถ่ายทอดอีกมุมที่คนไม่รู้ ส่วนพ่อดม จากตอนที่เริ่มต้นโปรเจ็กต์เราได้คุยกัน พ่อดมมีมุมในเรื่องครอบครัว ฟังประวัติแล้วเข้าสู้ชีวิตมาเยอะ เป็นอีกมุมที่เราชอบ
หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงความรักหนุ่มสาว เพราะเราต้องการให้เห็นในความรักมุมอื่นๆอีกมุมหนึ่ง อย่างปั๊บ เราก็เลือกเขามา นอกจากความเป็นนักดนตรีแล้ว เขามีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องความรัก การใช้ชีวิตคล้ายๆตัวละครที่ปั๊บมารับบท ซึ่งเรานึกไม่ถึงว่าเขาจะเป็นอย่างนั้น จากภาพทีเราเห็น เขาปกติ ก็สอดคล้องกับการเริ่มต้นโปรเจ็กต์นี้ มันไม่ใช่หนังแปลก แต่เป็นมุมมองที่มีอยู่จริง แต่ไม่มีใครเคยเห็นแล้วเราหยิบมาให้เห็น”
หนังเรื่องนี้อาจถูกตั้งแง่ว่าเป็นหนังดูยาก จนทำให้คนไม่อยากเข้าไปดู
“เมื่อเรายืนยันที่จะเดินทางมาเส้นนี้ เราจะทำยังไงให้เขาตอบรับให้มากขึ้น อยากให้คนดูเปิดใจเข้าไปดูหนังอีกประเภทหนึ่ง หนังเรื่องนี้เหมาะกับทุกกลุ่ม เราพูดถึงสิ่งที่กว้างมากๆ กับครอบครัว กับคนทีมีทุกข์ คนมีสุข เข้าไปดูแล้วอ๋อเราก็อยู่ที่นี่แหละ เราต้องสู้ต่อไป เราไม่ได้คิดว่าหนังเป็นสินค้าที่จับต้องอย่างชัดเจน ภาพยนตร์มันให้ประโยชน์ในแง่นามธรรม คนที่จะควักเงินมา หากเขารู้สึกดีๆกับหนังไทย หน้าที่เราทำหนังให้ดีๆเพื่อให้คุ้มค่า เราพยายามทำให้คนดูง่าย เพื่อให้คนดูได้ทุกระดับ ไม่ต้องตีความอะไรเยอะ”
กลุ่มคนดูที่หายไปจะกลับเข้ามาดูหนังเรื่องนี้
“คนดูมีสิทธิตัดสินใจที่จะเลือกซื้อตั๋วเข้ามาดู อยากขอโอกาสในบางสิ่งที่เรียบง่ายไม่อยากให้มองข้าม เรื่องราวนี้ไม่ได้ใหม่เพียงแต่ว่า มันไม่คุ้นเคยในยุคนี้ เชื่อว่าใครได้ดูน่าจะชอบแล้วก็น่าจะจำมันได้แล้วนึกถึงมัน คาดหวังว่าเมื่อคนรู้ว่ามีหนังแบบนี้ คนจะกลับมาดูในโรงหนัง แต่กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานต้นๆ หนุ่มสาวเราก็ไม่ได้ทิ้งนะ กลุ่มนี้ก็ดูหนังเรื่องนี้ได้ เราก็อยากให้เข้าไปดูเหมือนกัน

ด้วยความเรียบง่ายของตัวมันเอง จะเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนดูได้อย่างง่ายๆไม่ประดิษฐ์ประดอย ไม่เกินจริง ไม่ได้ทำอะไรให้มันมากมายเกินไป อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่า โลกใบนี้มันหมุนเร็วเกินไปแล้ว เราอยากหน่วงให้มันช้าลง ในมุมมองของเรากับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จะทำให้คนสะดุดว่า มีสิ่งที่งดงามแท้จริงอยู่ในสังคมเรา ความรักที่งดงาม นี่คือสิ่งที่เราอยากขยายแล้วให้คนได้มองเห็นให้ชัดขึ้น เราพูดถึงสถาบันครอบครัว ถ้าสถาบันตรงนี้แข็งแรง จะทำให้สังคมแข็งแรง ส่งผลไปยังเมือง ประเทศ และโลกใบนี้”







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น